Archive for the ‘สังคมผู้สูงวัย’ category

ข้อคิดจาก คุณไมตรี ลิมปิชาติ

มกราคม 7, 2024

อยากให้ผู้สูงวัยได้อ่าน

คุณไมตรี ลิมปิชาติ อดีต ผ.อ.กปน. และผู้เขียนนิยาย – บ้านหลังนั้นของใคร 9/4/2566

บันทึกความสุข
“5 อยาก กับ 10 ไม่”

ปีนี้ผมอายุ 81 ปีกว่าแล้ว สงสัยเหมือนกันว่า ทำไมยังไม่ตาย
มีคนรู้จักคนหนึ่งถามผมว่า ผมมีหลักในการทำตัวอย่างไรบ้าง?

ประการแรก ที่ผมตอบได้ทันที ก็คือ มองทุกอย่างในแง่บวก
ส่งผลให้เป็นคนอารมณ์ดี

นอกนั้น คือ การปฏิบัติตัวตามสูตร 5 อยากกับ 10 ไม่ ที่ผมคิดขึ้นเองดังนี้…
1) อยากจะกินอะไร ก็ กิน
2) อยากจะเที่ยว ก็ เที่ยว
3) อยากจะทำอะไร ก็ ทำ
4) อยากจะพักผ่อน ก็ พัก
5) อยากไปพบเพื่อนๆ ก็ ไป

ส่วน…ไม่…มีดังนี้
1) ไม่น้อยใจ ลูกหลาน
2) ไม่โกรธเพื่อนๆ ที่คิดต่าง
3) ไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
4) ไม่เอาอดีตที่เคยผิดหวัง มารบกวนปัจจุบัน
5) ไม่ห่วงลูกหลาน มากจนเป็นทุกข์
6) ไม่ต้องคาดหวังว่า อนาคตจะดีกว่าวันนี้
7) ไม่จำเป็นต้องไปงานสังคมทุกงาน
😎 ไม่ขี้เกียจเดิน และ ขี้เกียจหายใจ
9) ไม่พยายามคิดว่า มีอายุมากแล้ว
10) ไม่กังวลว่า จะตายเมื่อไร และ ตายแบบไหน

ไมตรี ลิมปิชาติ 9/4/66

คุณรู้จัก เชื้อนิวโมคอคลัส ใหม

กันยายน 14, 2023
เอกสารประชาสัมพันธ์ของ Pfizer

หลังจากที่เชื้อไวรัส COVID-19 ระบาดไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เมื่อสามสี่ปีที่ผ่านมา คนไทยติดเชื้อไวรัสนี้ ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก และยังมีคนไทยส่วนหนึ่งหวาดกลัว ต้องสวมหน้ากากอนามัยมาจนวันนี้

จากเอกสารประชาสัมพันธ์ของ Pfizer แจ้งว่ายังมีเชื้อไวรัสที่ร้ายแรงอีกเชื้อหนึ่ง ที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักชื่อ นิวโมคอคลัส เป็นเชื้อที่มีผลให้ปอดอักเสบในผู้ใหญ่ ยิ่งมีโรคประจำตัวยิ่งเสี่ยง

แต่มีวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบนี้ โดยองค์การอนามัยโรคแนะนำให้ฉีดวัคซันป้องกันเชื้อโรคร้ายนี้

ซึ่งโรงพยาบาลทั่วไป มีวัคซีนนี้ให้บริการแล้ว

สังคมผู้สูงอายุ

มกราคม 9, 2023

พูดกันมาสองสามปีแล้วว่า ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หมายความว่าประชากรชาวไทยทั้งประเทศ จะมีผู้สูงอายุประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่งคือ วงการแพทย์ให้ข้อมูลว่า อัตราการเกิดของคนไทยกลับลดน้อยลง จะชี้ว่าเมื่ออัตราการเกิดน้อยลง แต่ผู้สูงอายุกลับเพิ่มมากขึ้น ต่อไปสังคมไทยจะมีแต่ผู้สูงอายุ

ผลกระทบต่อสังคมไทยที่ต้องเตรียมรับมือคือ คนวัยทำงานจะน้อยลง เพราะคนเกิดน้อย รัฐบาลจะเก็บภาษีจากผู้คนวัยทำงานได้น้อย แต่จะต้องเพิ่มรายจ่ายให้คนสูงอายุมากขึ้น ทั้งในรูปแบบเงินยังชีพผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ปัญหานี้ประเทศญี่ปุ่นประสบมาแล้ว

หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไม่ทราบว่าเตรียมแผนรับมือกับปัญหานี้อย่างไร ขอฝากเป็นการบ้านไปช่วยคิดด้วยครับ

หากจะถามว่าสังคมผู้สูงอายุคืออะไร ตอบง่ายๆว่าคือ สังคมที่มีผู้อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปนั่นเอง หากจะถามว่าทำไมคนจึงมีอายุยืนเกิน 60 ปีขึ้นไปมาก ก็อาจจะตอบในมุมบวกว่า เพราะคนรู้จักการบำรุงรักษาสุขภาพของตนดีขึ้น ระบบสาธารณสุขของสังคมดีขึ้น รักษาโรคภัยไข้เจ็บของคนไข้ดีขึ้น คนจึงไม่ตายง่ายๆ

หากจะมองลงมาในสังคมระดับครอบครัว ก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน ครอบครัวคนไทยสมัยนี้เล็กลง เะราะลูกหลานแยกย้ายออกไปตั้งครอบครัวของตนเองเร็วขึ้น ปล่อยให้พ่อแม่อยู่กันเพียงสองคน เราจะเห็นครอบครัวแบบนี้ในสังคมไทยมากขึ้น

แล้วกลับมาพูดถึงผู้สูงอายุจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร ขอตอบว่าผู้สูงอายุก็ต้องรู้จักการพึ่งตนเองให้มากขึ้น พยามใช้เงินน้อยๆ อยู่แบบพอเพียง ชีวิตจะต้องสมถะมากขึ้น

สุดท้ายนี้ขอเอาใจช่วยผู้สูงอายุใช้ชีวิตให้มีความสุขและสงบครับ

ผู้สูงวัย กับ ไอที วันนี้

สิงหาคม 24, 2017

ผมขอให้คำนิยาม “ผู้สูงวัย” คือ คนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป วันนี้ท่านมีเรื่องท้าทายชีวิตท่าน ที่ไม่อาจจะหลีกหนีพ้นคือ ระบบไอที ผมขอนิยามคำนี้แบบบ้านๆคือ เทคโนโลยีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ต ที่เห็นใช้กันทุกเพศทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ในสังคมเมืองวันนี้

หากผู้สูงวัยไม่ต้องการให้ตนหลุดออกนอกกรอบสังคม ตั้งแต่ในครอบครัว ชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ สู่สังคมภายนอกอันกว้างใหญ่ ท่านจะต้องปรับตัวปรับใจ หันมาใช้สมาร์ตโฟนยี่ห้อใดก็ได้ เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารกับลูกหลานคนใกล้ชิด เพื่อนสนิทมิตรสหาย ไปถึงบุคคลในสังคมของท่าน

ถามว่าทำไมต้องใช้สมาร์ตโฟน ตอบง่ายๆว่าเพราะมันคือเครื่องมือสื่อสารที่รองรับแอพพลิเคชั่นยอดฮิต LINE นั่นเอง วันนี้หากใครไม่ใช้แอพฯตัวนี้ ดูเสมือนว่าท่านตกยุคไปทีเดียว

เมื่อมีประสบการณ์แก่กล้าขึ้นอีก ก็ขยับขยายไปเล่น Facebook,Instagrame,Twitter ตามอัธยาศัยต่อไป

ผมเองยอมรับว่าหากวันนี้ผมปรับตัวตามไอทีไม่ทัน ไม่ทราบเหมือนกันว่าชีวิตผมจะอยู่ในสภาพใด เพราะไม่รู้ว่าจะสื่อสารกับลูกหลานหรือคนใกล้ชิดอย่างไร ความสัมพันธ์กันคงมีปัญหาแน่นอน

แต่ดูเหมือนว่าจะมีผู้สูงวัยส่วนหนึ่งในสังคมไทย ที่ไม่ใส่ใจกับไอทีตามที่ผมกล่าวมา ชีวิตของเขาก็คงดำเนินไปแบบไม่ต้องรับรู้อะไรทั้งนั้น ดูง่ายดีไปอีกแบบหนึ่ง

ผมจำได้ว่าชีวิตผมคุ้นเคยกับจอภาพยนตร์ แล้วพัฒนามาสู่จอ ทีวี วันนี้มาอยู่กับจอมือถือหรือแท็บเล็ต

มือถือสมาร์ตโฟนเครื่องเดียว เพียงปลายนิ้วสัมผัส สามารถรับรู้เรื่องราวข่าวสารได้ในพริบตา

ภาพประกอบและข้อเขียน จากมือถือ Samsung Galaxy S5