Posted tagged ‘เกษตรศาสตร์’

อนาคตของนักวิชาการ(บางสาขา)ของไทย

มิถุนายน 25, 2012

ผมเป็นคนที่สนใจข่าวและสารคดีเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยและต่างประเทศมานานพอสมควร เพราะมีความเห็นเป็นส่วนตัวว่าธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำคัญต่อความอยู่เย็นเป็นสุขและความอยู่รอดของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือประเทศใดๆในโลก

ประเทศไทยก็เคยได้รับบทเรียนที่ยิ่งใหญ่และสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลมาแล้วคือ มหาอุทกภัยปลายปี พ.ศ. 2554 อย่างที่ทราบกันดีมาแล้ว

มีนักข่าวสายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติท่านหนึ่งที่ผมติดตามผลงานของเขามานานเกือบ 10 ปี ตั้งแต่สมัยที่เขาทำงานเป็นนักข่าวเล็กๆ ทำข่าวสิ่งแวดล้อมออกอากาศทาง ทีวี ซึ่งต้องยอมรับว่าในสมัยนั้นข่าวสิ่งแวดล้อมแทบจะไม่มีใครสนใจเลยก็ว่าได้ ท่านผู้นั้นคือ กิตติ สิงหาปัด

ผมไม่เคยรู้จัก กิตติ เป็นการส่วนตัว เพียงแต่ทราบว่าหลังจากที่ทำงานเป็นพนักงานขายเวชภัณฑ์การเกษตร ให้กับบริษัทหนึ่งเพียงระยะสั้นๆ แล้วก็เบนเข็มทิศชีวิตมาทำงานทางด้านสื่อมวลชน ทีวี อาศัยที่จบการศึกษาระดับปรืญญาตรีจากเกษตรศาสตร์ เขาจึงไม่ทิ้งวิชาความรู้ที่เรียนมา และหลังจากที่ผ่านร้อนผ่านหนาวจากประสบการณ์ทำงานด้านทีวี มานานเกือบ 10 วันนี้ทุกคนยอมรับว่า กิตติเป็นสื่อมวลชนที่มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดของวงการสื่อมวลชนไทยคนหนึ่ง ลองอ่านประวัติสั้นๆของเขาดูนะครับ

กิตติ สิงหาปัด (ชื่อเล่น: ลี่) ผู้ประกาศข่าว ในรายการข่าว 3 มิติ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 และ พิธีกรรายการ วันนี้ที่รอคอย ทาง โมเดิร์นไนน์ทีวี อดีตผู้ประกาศข่าวค่ำ โมเดิร์นไนน์ทีวี อดีตผู้ดำเนินรายการ ไอทีวี ฮอตนิวส์ อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายข่าว ด้านสนับสนุนการผลิต ไอทีวี เป็นหนึ่งในผู้ประกาศข่าวคู่แรกของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี คู่กับ นายเทพชัย หย่อง

ข้อเขียนวันนี้ผมไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเขียนประวัติของ กิตติ เพียงเกริ่นไว้เพื่อที่จะโยงไปหาเนื่อหาที่ผมจะเขียนวันนี้ เมื่อบ่ายวานนี้ (วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน 2555) ผมมีโอกาสฟังกิตติพูดในรายการวิทยุครอบครัวข่าวของ ทีวี ช่อง3 FM คลื่น 106 ( สทร.)

กิตติพูดว่าขณะนี้มีหมอกควันที่ลอยมาจากอินโดนีเซีย เป็นอันตรายต่อชาวประมงทางภาคใต้มาก แต่ก็ไม่สามารถจะจัดการอย่างไรได้ นี่คือภัยจากสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที และกิตติพูดโยงไปถึงการที่องค์การนาซา สหรัฐอเมริกา ขอใช้สถานที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในย่านเอเซียอาคเนย์ และบรรดานักการเมืองไทยก็พากันวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรื่องนี้อาจจะกระทบความมั่นคงของไทย แม้รัฐบาลของไทยก็ไม่อาจจะตัดสินใจเรื่องนี้ได้ จนมีข่าวว่ารัฐบาลสหรัฐอาจจะขอยกเลิกโครงการนี้

เรื่องนี้ผมมีโอกาสฟังนักวิชาการหลายท่านได้ออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางว่า ไทยอาจจะเสียโอกาสที่จะได้ร่วมวิจัยโครงการนี้ สำหรับโครงการนี้องค์การนาซาได้ลงทุนจำนวนมหาศาล มีอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย ทำการเชื่อมโยงกับระบบดาวเทียมและระบบการสื่อสารอย่างทันสมัย สามารถที่จะวิเคราะห์ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักวิชาการของไทยที่มีโอกาสร่วมงานวิจัยโครงการนี้ก็จะได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ดี ซึ่งยากที่ประเทศไทยจะสามารถทำโครงการวิจัยระดับนี้ได้

สำหรับปัญหาความลับเกี่ยวกับความมั่นคงของไทยนั้น อย่านึกว่าสหรัฐเขาจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับไทย เพราะวันนี้มีดาวเทียมจำนวนมากมายที่โคจรอยู่บนท้องฟ้านั้น สามารถจะบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับไทยได้สบาย ไม่ต้องลงทุนยกอุปกรณ์ทันสมัยมูลค่านับพันล้านบาทมาที่สนามบินอู่ตะเภาให้เป็นที่เอือกเกริกหรอก

กิตติยังพูดในรายการวิทยุดังกล่าวว่า น่าเห็นใจนักวิชาการไทย ที่อุตส่าห์เล่าเรียนมาสูงๆระดับปริญญาเอก กลับมาเมืองไทยก็ไม่มีงานวิจัยอะไรทำ ต้องเข้ารับราชการตามหน่วยงานงานต่างๆ ซึ่งก็ไม่มีงบประมาณสนันสนุนโครงการวิจัยอะไร อยู่ไปอย่างไม่มีผลงานวิจัยอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน หรืออาจจะมีโครงการวิจัยอะไรสักอย่าง ก็ไม่สามารถจะนำมาปฏิบัติการได้

หากโครงการวิจัยขององค์การนาซาที่สนามบินอู่ตะเภามีอันเป็นไปที่ต้องยกเลิก ก็น่าเสียดายโอกาสของนักวิชาการไทยเป็นอย่างยิ่ง

 

ภาพประกอบและข้อมูลบางส่วนจาก Wikipeadia